Saturday 18 June 2016

[บันทึกการอ่าน] เด็กชายในชุดนอนลายทาง (The boy in the striped pyjamas)

[บันทึกการอ่าน] เด็กชายในชุดนอนลายทาง (The boy in the striped pyjamas)



เรื่อง : เด็กชายในชุดนอนลายทาง (The boy in the striped pyjamas)
ผู้แต่ง : จอห์น บอยน์ (John Boyne)
ผู้แปล : วารี ตัณฑุลากร
สำนักพิมพ์ : แพรวเยาวชน
ประเภท : หมวดวรรณกรรมเยาวชน (เขาว่าอย่างนั้นนะคะ), อิงประวัติศาสตร์, ดราม่า (อันนี้เรากล่าวเอง)
ระดับความสปอยล์ : น้อยมาก มีกล่าวถึงบทสนทนานิดหน่อย ไม่ส่งผลต่อจุดสำคัญของเรื่องค่ะ


*
 หมายเหตุ ข้อความต่อไปนี้ล้วนเป็นความเห็นส่วนตัวทั้งสิ้น ไม่กล้าเรียกว่ารีวิว ไม่มีหลักวิชาการใดรองรับ ขอถือเป็นบันทึกการอ่าน มาเล่าเก็บไว้ และหากช่วยในการตัดสินใจเลือกอ่าน จะยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ *



งดงาม บริสุทธิ์ และโหดร้าย ß ขอมอบคำจำกัดความแบบสั้น ๆ ของเรื่องไว้ดังนี้


เราอาจคุ้นเคยกับเรื่องของสงครามที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครผู้ใหญ่ มุมมองของคนที่ถูกโลกกล่อมเกลา หล่อหลอมให้จิตใจแห่งวัยเยาว์บิดเบี้ยวไปทางใดทางหนึ่งเมื่อเติบโตขึ้น แต่เรื่องนี้พาเราค้นพบความจริงไปทีละอย่างพร้อมกับบรูโน เด็กชายวัยเก้าขวบชาวเยอรมัน โดยมีฉากหลังอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

บรูโนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีพ่อแม่ มีพี่สาวที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นยายเกินเยียวยา มีบ้าน มีคุณปู่คุณย่าอาศัยในละแวกเดียวกัน มีเพื่อนที่รักสุดชีวิตสามคน แต่แล้ววันหนึ่ง ชีวิตเช่นนั้นก็มีอันต้องเปลี่ยนไปกะทันหัน เนื่องจากงานอันยิ่งใหญ่และทรงเกียรติของพ่อ ครอบครัวต้องย้ายไปประจำอยู่ค่าย(ที่บรูโนเรียกว่า)เอาท์วิธ สถานที่ซึ่งสภาพแวดล้อมต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง บ้านเล็กลง เพื่อนบ้านหายไป ไม่มีร้านกาแฟ ไม่มีตลาด เพื่อนที่รักสุดชีวิตคงจะไม่ได้เจอกันอีกเร็ว ๆ นี้แน่นอน ไม่มีใครให้เล่นด้วย มีแต่ทหารเดินเข้าออกบ้านประหนึ่งเป็นบ้านตัวเอง

จากริมหน้าต่างห้อง เขาสามารถมองเห็นรั้วสูงใหญ่ที่มีลวดหนาวขดโต ๆ พันต่อกันเป็นวงทอดยาวไปไกลสุดตา อีกฝั่งรั้วนั้นมีผู้คนในชุดนอนลายทางอยู่มากมาย บรูโนค้นพบสิ่งใหม่ ในวันหนึ่งที่เขานึกขึ้นได้ ว่าตัวเองเคยชื่นชอบการออกสำรวจเพียงใด

ไกลจากตัวบ้านออกไป ที่ริมรั้วลวดหนามนั้น...มิตรภาพของเด็กชายสองคน บรูโน และชมูเอลเด็กชายชาวยิว ได้เริ่มต้นขึ้นด้วยถ้อยคำเรียบง่าย

“สวัสดี” บรูโนทัก
“สวัสดี” เด็กชายคนนั้นตอบ

แน่นอน มุมมองของเด็กย่อมต่างออกไป ในคืนวันที่หัวใจยังใสบริสุทธิ์ ความโหดร้ายของสงครามถูกถ่ายทอดผ่านความไร้เดียงสา เสน่ห์อันเด่นชัดอย่างหนึ่งคือความขัดแย้งในเรื่อง เหมือนกระดาษขาวขับสีหมึกดำที่ย้อมอยู่ให้ชัดเจนขึ้น ลึกล้ำขึ้น สู่จุดจบที่ขมขื่น แต่ยังคงความงดงามของวัยเยาว์ แม้อยู่ท่ามกลางความโหดร้ายยิ่งยวดที่ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยก่อให้เกิดแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ไม่ว่าจะความปวดร้าวของผู้ใหญ่ หรือความไร้เดียงสาของเด็ก เราต่างแบกรับความทุกข์โศกของสงครามไว้ แม้เป็นในรูปแบบที่แตกต่าง แต่ผลลัพธ์ไม่ผิดแผกกันนัก

“ผมก็แค่พูดไปตามที่ผมรู้สึก ผมพูดได้ไม่ใช่หรือ?”
“ไม่ค่ะ ไม่ได้”
“ผมพูดตามที่รู้สึกไม่ได้หรือ”
“ไม่ได้ค่ะ”

นั่นเป็นบทสนทนาช่วงหนึ่งระหว่างบรูโนและมาเรียผู้เป็นสาวใช้ของบ้าน

หากเรามองจากมุมมองของตัวละครผู้ใหญ่ อย่างเช่นมาเรีย พ่อแม่ของบรูโน หรือพาเวล คนรับใช้ที่โต๊ะอาหาร เราเห็นความโหดร้ายของโลกในรูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อมองผ่านสายตาเด็กน้อย (หรืออย่างที่เจ้าตัวอยากให้เรียกเขาว่า หนุ่มน้อย มากกว่า) อย่างบรูโน เราเห็นความทุกข์โศกในอีกลักษณะ เราเห็นความอัดอั้น ความเคลือบแคลงสงสัยต่อโลกที่พลิกกลับหน้ามือเป็นหลังมือ และสิ่งเหล่านั้นคล้ายจะไม่มีวันคลี่คลาย

อีกทางหนึ่ง หากเรามองผ่านสายตาของชมูเอล โลกนี้คงโหดร้ายเหลือทน ทั้งยังเป็นความโหดร้ายที่แสนอ้างว้าง อาจกล่าวเช่นนั้น ก่อนเขาจะได้เจอกับบรูโนที่ริมรั้วลวดหนาม รั้วที่กั้นระหว่างคน และคน...ที่พี่สาวของบรูโนพูดไว้ตอนหนึ่งว่าคนพวกนั้นไม่ใช่คนหรอก...

“เราเป็นฝ่ายตรงข้าม” เธอบอก
“ยิวไม่ชอบฝ่ายตรงข้ามหรือ” บรูโนถาม
“ไม่ใช่ เราต่างหากไม่ชอบเขา”
“แล้วทำไมเราไม่ชอบเขาล่ะ”
“เพราะเขาเป็นยิว”

แม้เวลาจะล่วงผ่านมานานแล้ว แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความคิดในลักษณะนี้ ยังคงฝังรากอยู่ในเบื้องลึกเบื้องหลังของจิตใจมนุษย์เรื่อยมา เพียงแต่ลึกลับซ่อนเร้นยิ่งขึ้น และถูกถ่ายทอดแยบยลผ่านการกระทำให้ร้ายฝ่าย(ที่เราเรียกว่า)ตรงข้าม เพียงแต่เป็นสงครามในรูปแบบที่แตกต่าง

หวังว่าเราจะไม่ต้องพบเจอกับรั้วเช่นนั้นอีก





เป็นวรรณกรรมที่กินใจในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่าน นึกไม่ออกว่าเคยร้องไห้ถึงกับสะอื้นออกมาจริง ๆ ให้หนังสือเรื่องไหนมาก่อนหรือเปล่า ยกขึ้นหิ้งไว้อีกเรื่องเลยทีเดียว ชอบมากกกกกกกกกกกกค่ะ ชอบทั้งที่ร้าวราน

หนังสือดีมากจริง ๆ อวยแบบอวยมาก ถ้าให้เทียบระหว่างเรื่องนี้กับ พ่อกับผมและบางสิ่งที่หายไปในสงคราม ของจอห์น บอยน์ เช่นกัน (และเรื่องนั้นก็ชอบมาก ๆ เช่นกัน) ขอให้คะแนนความตราตรึงใจเรื่องนี้มากกว่านิดหน่อย
//เรามักจะรักเป็นพิเศษกับหนังสือที่อ่านจบแล้วทิ้งความรู้สึก (ในแง่ใด ๆ) ไว้ในใจหลังอ่านจบน่ะค่ะ TwT


อนึ่ง วรรณกรรมเรื่องนี้ มีทำเป็นภาพยนตร์ด้วย เมื่อปี 2008 คิดว่าน่าจะรู้กันเกือบหมดแล้ว (ซึ่งเรายังไม่ได้ดู แต่ไปกดดูตอนท้าย ๆ ใน youtube แล้ว) เด็กน้อยที่แสดงเป็นตัวเอกทั้งสองน่ารักมาก ๆ เลย ;///; สามารถหาดูได้เต็มเรื่องใน youtube เลยค่ะ



- คุณแมวสามตา -


Sunday 22 May 2016

[บันทึกการอ่าน] : ลวง (Souls embracing)


[บันทึกการอ่าน] : ลวง (Souls embracing)



เรื่อง : ลวง (Souls embracing)
ผู้แต่ง : โหว เหวิน หย่ง
ผู้แปล : อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี
สำนักพิพม์ ; แมงมุมบุ๊ก
ประเภทวรรณกรรม ไต้หวัน
ระดับการสปอยล์ : ไม่สปอยล์ค่ะ


* หมายเหตุ ข้อความต่อไปนี้ล้วนเป็นความเห็นส่วนตัวทั้งสิ้น ไม่กล้าเรียกว่ารีวิว ไม่มีหลักวิชาการใดรองรับ ขอถือเป็นบันทึกการอ่าน มาเล่าเก็บไว้ และหากช่วยในการตัดสินใจเลือกอ่าน จะยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ *

เล่มนี้ของคุณหมอโหวเหวินหย่ง ก็ไม่ทำให้ผิดหวังอีกเช่นเคย

เรื่องย่อตามคำโปรยหลังปกค่ะ ก็อปมาวางให้ดังนี้ 

[อี๋ว์เผยเหวิน นักเขียนหนุ่มเนื้อหอม ถึงคราวโด่งดังเป็นพลุแตก และเมื่อบทความที่เขาโพสต์ลงอินเตอร์เน็ตได้รับความนิยมสูงสุด ชื่อเสียง เงินทอง ความรักบริสุทธิ์ ต่างไหลมาเทมาจนตั้งรับไม่ทัน
แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากบทความนั้นส เขาไม่ได้เห็นคนเขียนขึ้นเอง
เจ้าของตัวจริง กำลังมาทวงสิทธิ์คืน!
หนำซ้ำ ยังมีเหยี่ยวข่าวคู่อาฆาต ที่คอยจ้องจะเหยียบย่ำทำลาย เพราะเห็นเขาเป็นมารหัวใจ]

 แต่ที่จะพูดถึงคือความเห็นและอารมณ์ (โดยส่วนตัว) หลังอ่านจบ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน XD

เรื่องนี้มีความนัว มีความอีนุงตุงนัง มีความไหลไปตามน้ำของตัวเอกในช่วงแรก เริ่มจากแค่จุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่น่ามีอะไรร้ายแรง...แบบ...เฮ้...ถ้ากลับตัวตอนนี้ก็ยังทันน่า...อีกนิดหน่อย...ตอนนี้ล่ะ....แต่ลอยคอตามน้ำไหลเอื่อยอยู่ดี ๆ กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็เหมือนโดนพัดจนปลายจมูกจมอยู่ใต้ผิวของกระแสน้ำเชี่ยวกรากไปแล้ว ดิ้นพราดสิทีนี้

ความรู้สึกตอนอ่านก็ประมาณนี้ด้วยเลย โดนจับลอยคอไปด้วยกัน ตะเกียกตะกายไปพร้อมกัน

เรื่องช่วงแรกอาจเรื่อย ๆ สักนิด แต่พอเข้ากลางเรื่องแล้วเริ่มอิน ไม่ต่ำกว่าหนึ่งครั้งที่ต้องสบถว่า นังผู้หญิงคนนี้!’ หรือไม่ก็ ไอ้โรคจิต!’ ให้กับบางคน..หรือบางเหตุการณ์ในเรื่อง (เอิ่มส์)

แต่พอถึงจุดสุดท้ายจริง ๆ กลับรู้สึกเหมือนทุกคน (หรือไม่ก็เกือบทุกคน) ล้วนตกเป็นเหยื่อของกลไกซับซ้อนทางสังคม ชื่อเสียง ความกลัว ความต้องการการยอมรับ จุดยืนที่บางครั้งก็ถูกสั่นคลอน ฯลฯ

มีความสะพรึง ตลกร้าย แล้วยังอุตส่าห์มีจุดที่ทำให้หัวเราะออกมาหัวเราะออกเสียงกับมุกตลกแสบ ๆ คัน ๆ ในเรื่องด้วย
แถมยังรู้สึกว่าตัวละครอย่างคุณผจก.ส่วนตัวของพระเอก กับตานักเขียนคู่แข่งอีกคนเป็นสีสันดีชะมัดเลย ชอบเป็นการส่วนตัวค่ะ แต่ไม่ควรพูดเยอะ เกรงจะสปอยล์ 5555

ตอนแรกคิดว่าคงไม่เสียน้ำตาให้เรื่องประมาณนี้ แต่สุดท้ายก็แอบมีนิดหน่อยจนได้ (ฮา)

อาจเนื่องด้วยผู้เขียนเป็นคุณหมอ บางแง่มุมของเรื่องเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกของญาติและผู้ป่วย—ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโรงพยาบาล—เลยสมจริงและกินใจ ยิ่งพอมาขมวดอยู่ในตอนท้าย ๆ ที่นำไปสู่จุดสิ้นสุดของเรื่อง มันเหมือนเชือกติดปมที่ถูกดึงจนตึงมือแล้วค่อยหลุดผึงออก เหลือความว่างเปล่าไว้มองต่อนิ่ง ๆ

ในความรู้สึกเรา ตอนทิ้งท้าย ตะกอนตกค้างของอารมณ์คล้ายกับที่เหลืออยู่จากการอ่านเรื่อง “เกมชีวิต ลิขิตหัวใจ” (The Hospital) ของคุณหมอโหวเล่มโน้นอยู่เหมือนกันค่ะ ซึ่งเราว่ามันเป็นเสน่ห์ที่เจ๋ง ที่ทำให้รู้สึกโหวง ๆ หน่วง ๆ พลางคิดว่านี่แหละมั้งชีวิต เกาะค้างอยู่อย่างนั้นไปอีกสักพักใหญ่
//ทำไมยิ่งพูดดูยิ่งงง

สรุปถ้าถามดราม่าไหม เครียดไหม ก็จัดว่าเนื้อหาหนักหน่วงอยู่เหมือนกัน (ไม่ใช่คอมเมดี้เอาฮาแน่ละ ถึงจะมีหลุดหัวเราะออกมานิดนึงก็เถอะ) แต่ไม่หนักหน่วงเกินไป กำลังเข้มข้น ตื่นเต้น และบีบคั้น แต่ไม่ถึงกับทำให้ทรมานในการอ่าน (คือมันอาจจะมีบางเรื่องที่ต้องหยุดพักเป็นช่วง ๆ เพราะรู้สึกหนัก เหนื่อย แต่เรื่องนี้สามารถอ่านยิงยาวได้—ในความคิดเรานะ)

ถามว่าแนะนำต่อไหม—กำลังแนะนำอยู่นี่เลยค่ะ 5555 ยิ่งถ้าเคยอ่านนิยายของหมอโหวแล้วชอบ ก็ค่อนข้างแน่ใจว่าน่าจะต้องชอบเรื่องนี้ด้วย

ดังนั้น มาค่ะ มามะ มาอ่านกันเถอะ << มีความเป็นกองอวยคุณหมอ ชอบค่ะ อยากบอกต่อ คือมีนักเขียนจีนไม่กี่ท่านที่เราชอบจนจำชื่อได้ (ชื่อจีนจำยากอ่า) คุณหมอโหวเหวินหย่งเป็นหนึ่งในนั้นค่ะ XD


(เป็นรีวิวที่ไม่ค่อยมีสาระเลยเนอะ ฮา